ปทุมธานี

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

รถไฟมาถึงสุรินทร์ครั้งแรก





วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ (นับอย่างปฏิทินปัจจุบัน พ.ศ. ๒๔๓๕) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพิธี ณ ฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมตรงท้ายวัดเทพศิรินทราวาส เพื่อทรงขุดดินเป็นพระฤกษ์ทรงตักดินเทลงในเกวียนพอสมควรแล้วโปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิศไสเกวียนเดินไปตามทาง ถึงที่ต้นทางที่จะทำทางรถไฟแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเทดินลงถมที่นั้นแล้ว คนงานทั้งหลายได้ลงมือขุดดินตามทางที่กระทรวงโยธาธิการได้ปักกรุยไว้ (สงวน อั้นคง ๒๕๒๙ : ๑๔๕)

แต่ปรากฏว่าหลังจากก่อสร้างไปได้ไม่นาน บริษัทอังกฤษผู้รับสัมปทานไม่สามารถสร้างทางรถไฟได้เสร็จตามสัญญา กรมรถไฟหลวงจึงเลิกจ้างแล้วดำเนินการก่อสร้างเองจนเปิดใช้การได้ช่วงแรกกรุงเทพฯ-อยุธยา (๗๑ กิโลเมตร) ในวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ (นับอย่างปฏิทินปัจจุบัน พ.ศ. ๒๔๔๐)

ต่อจากนั้นก็มีการสร้างทางรถไฟจากอยุธยาไปชุมทางบ้านภาชี สระบุรี เข้าสู่ดงพญาเย็น ปรากฏว่าคนงานและวิศวกรตายเป็นจำนวนมากดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การสร้างทางรถไฟดังกล่าวซึ่งกำหนดไว้ ๕ ปี แต่กว่าจะเสร็จถึงเป้าหมาย ใช้เวลาถึง ๙ ปีเต็ม รวมระยะทาง ๒๖๕ กิโลเมตร ใช้เงินก่อสร้าง ๑๗,๕๘๕,๐๐๐ บาท (เฉลี่ยกิโลเมตรละ ๖๖,๓๖๐ บาท) สูงกว่าที่บริษัทอังกฤษประมูลไว้ ๗.๖๒ ล้านบาท หรือร้อยละ ๗๖.๕ เงินที่ใช้ก่อสร้างทางรถไฟดังกล่าวถือว่าเป็นเงินจำนวนมากในยุคนั้น เพราะงบประมาณรายรับของรัฐบาลใน พ.ศ. ๒๔๓๕ มีเพียง ๑๕,๓๗๘,๑๑๔ บาท และในปีที่ทางรถไฟสร้างถึงนครราชสีมา พ.ศ. ๒๔๔๓ รัฐบาลไทยมีรายได้ทุกประเภทรวม ๓๕,๖๑๑,๓๐๖ บาท (Wright 1908 : 112) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเปิดรถไฟที่นครราชสีมาเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ อนึ่งความกว้างของรางรถไฟที่ใช้ในภาคอีสานและภาคอื่นๆ ใช้ขนาดมาตรฐานที่ดีที่สุดของโลกขณะนั้น คือ ๑.๔๓๕ เมตร ยกเว้นสายใต้ใช้ขนาด ๑ เมตร เพราะถูกแรงบีบจากอังกฤษจึงต้องใช้เท่ากับของอังกฤษในมลายู (สุวิทย์ ธีรศาศวัต ๒๕๒๓ : ๕๑๑-๕๑๓) 

สุวิทย์ ธีรศาศวัต ภาควิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศิลปวัฒนธรรม วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 28 ฉบับที่ 05

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น